Postoperative Tracheostomy Care
 
            การดูแลผู้ป่วยหลังการเจาะคออย่างเหมาะสม ถือเป็นสิ่งจำเป็น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก  ถ้าหากมีเสมหะอุดตันในท่อเจาะคอหรือท่อเจาะคอเลื่อนหลุด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้  ดังนั้นจะกล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยหลังการเจาะคอในแง่ต่างๆดังนี้

การปรับความชื้นของอากาศที่หายใจ(Humidification)
	เนื่องจากหลังจากผู้ป่วยได้รับการเจาะคอแล้ว จะไม่ได้หายใจผ่านทางจมูก ทำให้อากาศที่หายใจเข้า ไม่ได้ผ่านกลไกการกรองฝุ่นละออง การปรับอุณหภูมิและความชื้นตามปกติ อากาศจะแห้งและเย็น ส่งผลให้เยื่อบุหลอดลมตาย เกิดcrusting และ มูกที่มีความเหนียว เกาะแน่นที่ผนังหลอดลม ทำให้ท่อเจาะคอตันได้  การเพิ่มความชื้นให้กับอากาศที่ผู้ป่วยหายใจเข้าโดยเลียนแบบภาวะปกติถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยให้อากาศที่ผ่านการปรับความชื้นแล้วผ่านทาง tracheostomy collar 

การดูดเสมหะ(Suction)
	ผู้ป่วยที่ได้รับการเจาะคอมักจะไอได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถสร้างsubglottic pressure ได้ตามปกติ ทำให้มีเสมหะค้างในหลอดลม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูดออก โดยใช้สายดูดเสมหะที่ปราศจากเชื้อและดูดด้วยความนุ่มนวล แนะนำให้ใช้สายดูดเสมหะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยก่อนที่จะใส่สายดูดเสมหะผ่านท่อเจาะคอ ให้อุดสายดูดเสมหะก่อนแล้วจึงปล่อยให้ดูดเสมหะในขณะที่ถอยสายดูดเสมหะออกมา เพื่อลดการระคายเคืองของหลอดลม ระยะเวลาที่ดูดเสมหะไม่ควรเกิน 15 วินาที  เนื่องจากอาจทำให้เกิด hypoxia และ  cardiac arrest ได้  ทั้งนี้ ควรhyperventilate ผู้ป่วยก่อนและหลังดูดเสมหะด้วย

การเปลี่ยนท่อเจาะคอ(Tracheostomy tube changes)
	ระยะเวลาในการเปลี่ยนท่อเจาะคอแนะนำว่าควรให้เลย 3 วันแรกหลังการเจาะคอไปแล้ว เนื่องจากในระยะ 3 วันแรกนั้น รูเจาะคอยังไม่คงตัวนัก ทำให้การเปลี่ยนท่อเจาะคอทำได้ลำบาก อาจเกิดปัญหาใส่ท่อเจาะคอไม่เข้าตามรูเจาะคอเดิม (false tract) ได้ ในกรณีที่ประเมินว่าเปลี่ยนท่อเจาะคอได้ลำบาก หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนท่อเจาะคอใน 3 วันแรก ควรเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ retractor และ tracheal dilator ไว้ให้พร้อม นอกจากนี้มีวิธีที่จะช่วยให้สามารถใส่ท่อเจาะคอได้ไม่ผิดรูโดยใส่สายสวนเข้าทางรูของท่อเจาะคอเดิม ดึงท่อเจาะคอเดิมออก แล้วใส่ท่อเจาะคอใหม่โดยให้สายสวนลอดรูของท่อเจาะคอใหม่ออกมา 
การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องก้นการติดเชื้อ(Prophylactic antibiotics) 
	การให้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันการติดเชื้อจากการเจาะคอนั้นไม่มีความจำเป็น(1)    เหตุผลที่ผู้ป่วยที่ได้รับการเจาะคอมักได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเพราะ ผู้ป่วยดังกล่าวมีโรคติดเชื้อซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคนั้นๆอยู่แล้ว 
 
การดูแลลูกโป่งของท่อเจาะคอ
	ในกรณีที่ใช้ท่อเจาะคอที่มีลูกโป่ง(cuff)เพื่อป้องกันการสำลักเลือดหรือต่อกับเครื่องช่วยหายใจ ควรปล่อยลมออกจากลูกโป่ง(deflate cuff) เป็นระยะ เมื่อไม่มีเลือดออกจากแผล เพื่อลดการกดทับต่อผนังของหลอดลม ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดแผลกดทับได้ และควรเปลี่ยนท่อเจาะคอแบบโลหะ เมื่อหมดความจำเป็น เช่น ไม่มีเลือดออก หรือ ผู้ป่วยหายใจได้่เองไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว

การถอดท่อเจาะคอออก(Decanulation)
	ก่อนที่จะนำท่อเจาะคอออกนั้น แพทย์ควรประเมินแล้วว่าข้อบ่งชี้ในการใส่ท่อเจาะคอในผู้ป่วยรายนั้นๆได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วและกายวิภาคของทางเดินหายใจของผู้ป่วย ได้แก่ กล่องเสียง และ หลอดลม กว้างเพียงพอ ไม่มีปัญหาอุดตัน  รวมทั้งปอด สามารถทำงานได้ดี สามารถไอ ขับเสมหะได้ เช่น ถ้าผู้ป่วยได้รับการเจาะคอเนื่องจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจจาก acute epiglottitis  ผู้ป่วยก็ควรได้รับการรักษาจนอาการอุดกั้นทางเดินหายใจได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วจึงนำท่อเจาะคอออก โดยผู้ป่วยควร ได้รับการประเมิน ทางเดินหายใจด้วย indirect laryngoscopy(IDL) หรือ flexible laryngoscopy แล้วพบว่า
epiglottis ยุบบวมแล้ว  โดยก่อนจะนำท่อเจาะคอออกนั้น   สามารถทดสอบได้ว่าผู้ป่วยหายใจและขับเสมหะได้โดยให้ลดขนาดท่อเจาะคอลง  ถ้าหายใจได้ดีแล้วจึงลองอุดท่อเจาะคอ  ถ้าสามารถอุดท่อได้ทั้งกลางวันและกลางคืน จึงพิจารณาถอดท่อเจาะคอออก  โดยให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการประมาณ 24 ชั่วโมงให้แน่ใจว่าสามารถหายใจได้เอง ซึ่งโดยปกติแล้ว รูเจาะคอมักจะสามารถปิดได้เองในที่สุด