ประวัติความเป็นมา

สาขารังสี: ความเป็นมาและการเติบโตของการให้บริการด้านรังสีวิทยา

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้รับโอนรังสีแพทย์หนึ่งคนมาปฏิบัติราชการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 คือ พญ.จำนงค์ แก้วทับทิม นับเป็นรังสีแพทย์คนแรกของโรงพยาบาล และเป็นอาจารย์แพทย์คนแรกในสาขารังสีวิทยาเมื่อได้มีการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นในปี 2533  ต่อมาในปีงบประมาณ 2534 ได้เริ่มมีการบรรจุอาจารย์แพทย์ประจำสาขารังสีเพิ่มขึ้นทีละคน จนมีอาจารย์เพิ่มขึ้นเป็น 3 คนในปีงบประมาณ 2538   ในช่วงปี 2531-2539 แผนกรังสีวินิจฉัยของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ของอาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ มีห้องเอกซเรย์ให้บริการผู้ป่วยเพียง 2 ห้อง โดยมีเครื่องเอกซเรย์ชนิดแขวนเพดานพร้อมระบบส่องตรวจฟลูโอโรสโคปิ 1 เครื่อง เครื่องเอกซเรย์ชนิดแขวนเพดานแบบอะนาล็อก  1 เครื่อง เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง เครื่องล้างฟิล์มแบบใช้ห้องมืด 2 เครื่อง และเครื่องตรวจอวัยวะด้วยอัลตร้าซาวด์ 1 เครื่อง มีนักรังสีการแพทย์เพียง 3 คน ต่อมาในปีงบประมาณ 2539 จึงได้รับจัดสรรงบประมาณซื้อเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammography) 1 เครื่อง เครื่องและมีการบรรจุนักรังสีการแพทย์เพิ่มอีก 1 คน

เมื่ออาคารใหม่ (อาคารกิตติวัฒนา) ที่โรงพยาบาลได้รับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างแล้วเสร็จในกลางปี 2540 จึงได้มีการย้ายแผนกรังสีวินิจฉัยมาอยู่ชั้นที่ 1 ของอาคารกิตติวัฒนา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสาขารังสีในปัจจุบัน   ในปีเดียวกันนั้นสาขารังสีก็ได้รับงบประมาณจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ชนิดแขวนเพดานเพิ่มอีก 1 เครื่อง และได้รับจัดสรรงบประมาณซื้อเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบ Spiral CT หรือ Multislice CT (16 Slice)   ในปีต่อๆ มาสาขารังสีได้รับบรรจุอาจารย์เพิ่มขึ้นจนกระทั่งในปีงบประมาณ 2544 ได้มีจำนวนอาจารย์เพิ่มขึ้นเป็น 11 คน การให้บริการแก่ผู้ป่วยทางด้านรังสีวินิจฉัยก็มีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ คู่ขนานกันไป โดยมีการเปลี่ยนการรายงานผลการตรวจโดยการใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ผลการตรวจในปี 2541 จากเดิมที่เคยใช้พิมพ์ดีดพิมพ์ใบรายงานผล ต่อมาในปลายปีงบประมาณ 2549 ได้มีการทำสัญญาร่วมบริการในการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ขนาด 64 Slice กับบริษัทเอกชน และได้เริ่มมีการบันทึกข้อมูลภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เข้าในระบบจัดเก็บข้อมูลภาพรังสีของโรงพยาบาล     ในปีงบประมาณ 2551 ก็ได้มีการจัดเก็บข้อมูลภาพรังสีของผู้ป่วยทั้งหมดเข้าในระบบจัดเก็บข้อมูลภาพรังสี หรือ PACS (Picture Archiving and Communication System)   อาจกล่าวได้ว่า งานบริการรังสีวินิจฉัยของสาขารังสีมีการพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปีงบประมาณ 2551-2554 โดยนอกจากจะได้รับงบประมาณในการจัดซื้อระบบ PACS แล้วยังได้รับงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือที่จำเป็นต่อการให้บริการผู้ป่วยหลายเครื่องด้วยกัน เช่น เครื่องอัลตร้าซาวด์ 4 เครื่อง เครื่องเอกซเรย์เต้านมระบบดิจิตอล (ทดแทนเครื่องแรก) เครื่องส่องตรวจฟลูโอโรสโคปิระบบดิจิตอล เครื่องตรวจมวลกระดูก เครื่องตรวจระบบหลอดเลือดแบบสองระนาบ (Biplane digital subtraction angiography) เครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิตอลแบบ u-arm นอกจากนี้ การพัฒนาที่สำคัญในปลายปี 2552 คือได้มีการทำสัญญาร่วมบริการกับบริษัทเอกชนเพื่อให้บริการด้วยเครื่องตรวจอวัยวะด้วยสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging – MRI)ขนาด1.5 เทสลา ซึ่งทำให้สาขารังสีสามารถให้บริการในการตรวจด้านรังสีวินิจฉัยแก่ผู้ป่วยได้ครบด้านมากขึ้น   ในปีงบประมาณ 2556ได้มีการทำสัญญาร่วมบริการด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เครื่องที่สองซึ่งเป็นเครื่อง multislice CT ขนาด 256 slice ทำให้สามารถให้บริการการตรวจที่มีความหลากหลายและสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วมากยิ่งขึ้น     ในปี 2557ได้เปลี่ยนเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 64 slice เป็นเครื่องใหม่ในขนาด 128 slice เพื่อให้สามารถรองรับบริการในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้     ในปีงบประมาณ 2558 สาขารังสีได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินบริจาคจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อจัดซื้อเครื่องตรวจอวัยวะด้วยสนามแม่เหล็กขนาด 3 เทสลาพร้อมระบบจำลองการฉายรังสี ทำให้ปัจจุบันมีเครื่องตรวจอวัยวะด้วยสนามแม่เหล็กให้บริการจำนวนทั้งหมดสองเครื่อง

ในปีงบประมาณ 2558 สาขารังสียังได้รับเงินบริจาคจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อจัดซื้อเครื่องเร่งอนุภาค( Linear accelerator) พร้อมอุปกรณ์ประกอบต่างๆ จนสามารถเปิดให้บริการด้านรังสีรักษาแก่ผู้ป่วยได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป  นอกจากนี้ยังได้เปิดบริการด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วยเครื่อง SPECT/CT ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559   โดยในปัจจุบันมีผู้ป่วยใช้บริการด้านรังสีวินิจฉัยเฉลี่ยวันละ 550-600 รายเทียบกับไม่เกิน 70 รายต่อวันในสองสามปีแรกที่โรงพยาบาลเปิดให้บริการ  ส่วนบริการรังสีรักษาในปัจจุบันมีผู้ป่วยรับบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 35-40 รายต่อวัน

ส่วนการพัฒนาบุคลากรของสาขารังสี ก็มีการดำเนินการควบคู่กันไปกับความก้าวหน้าในการให้บริการวิชาการ โดยอาจารย์ที่อยู่ในสังกัดภาควิชารังสีวิทยาของคณะแพทยศาสตร์ได้ทยอยรับทุนจากคณะ เพื่อไปฝึกอบรมเพิ่มเติมทางรังสีวิทยาเฉพาะด้านต่างๆ ปีละ 1-2 คน จนในปัจจุบันมีอาจารย์ในสาขารังสีทั้งหมด 17 คน เป็นอาจารย์ทางด้านรังสีวินิจฉัย 15 คน ด้านรังสีรักษา 2 คน และอาจารย์เกือบทั้งหมดผ่านการฝีกอบรมเพิ่มเติมด้านรังสีวิทยาเฉพาะทางจากต่างประเทศ และมีอาจารย์ที่ได้รับหนังสืออนุมัติอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูงอยู่ 3 คน อนุมัติบัตรสาขารังสีร่วมรักษาลำตัว 1 คน  ในส่วนงานรังสีวิทยาของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมีนักรังสีการแพทย์ 25 คน นักฟิสิกส์การแพทย์ 2 คน และบุคลากรอื่นๆ อีก 29 คน  นอกจากนี้ยังมีบุคลากรของบริษัทเอกชนที่เข้ามาร่วมบริการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และ MRI อีก 34 คน

ในด้านการเรียนการสอนคณาจารย์ของภาควิชารังสีวิทยา ได้จัดการเรียนการสอนในวิชารังสีวิทยาให้แก่นักศึกแพทย์ที่ศึกษาอยู่ทั้งในระดับพรีคลินิก และระดับคลินิกของคณะ ตามหลักสูตรที่คณะกำหนดขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2534 มาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้มีการเปิดสอนในรายวิชาเลือกทางรังสีวิทยาให้แก่นักศึกษาแพทย์ระดับคลินิกที่สนใจตั้งแต่ปีการศึกษา 2551   ต่อมาในปีการศึกษา 2554 ภาควิชารังสีวิทยาได้มีการเปิดหลักสูตรอบรมแพทย์ประจำบ้านปีการศึกษาละ 4 ตำแหน่ง และเมื่อเดือน ก.ค.2556 ภาควิชาฯ ได้รับการตรวจประเมินเพิ่มศักยภาพการฝึกอบรมจากราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย และได้รับอนุมัติให้เพิ่มศักยภาพการฝึกอบรมจากแพทยสภาในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านในหลักสูตรรังสีวิทยาวินิจฉัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 8 ตำแหน่ง ในแต่ละปีการศึกษานับตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา  ในปีการศึกษา 2559 ภาควิชาฯ ยังได้ผ่านการตรวจประเมินให้สามารถเปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดในอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูงปีการศึกษาละ 2 ตำแหน่ง

นอกจากนี้หน่วยรังสีวินิจฉัยฯ ยังเป็นแหล่งฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษาสาขารังสีเทคนิคของคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรมาเป็นเวลามากกว่าสิบปีแล้ว