ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรังสีร่วมรักษา

รังสีร่วมรักษา

เป็นสาขาวิชาหนึ่งของรังสีวิทยาที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลา 20-30ปีหลังนี้ นับตั้งแต่นายแพทย์ Sven Ivar Seldinger รังสีแพทย์ชาวสวีเดน ได้นำวิธีการสอดใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแบบ Percutaneous Technique หรือที่เรียกกันว่า Seldinger’s Technique มาใช้ในปี พ.ศ. 2496 ทำให้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และนำไปสู่การคิดค้นพัฒนาวิธีการทาง Percutaneous อื่นๆประกอบกับการพัฒนาเครื่องมือตรวจทางรังสีวิทยาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่เครื่อง x-ray Fluoroscope ที่มีคุณภาพดี, เครื่อง Ultrasound, เครื่อง CT Scan, เครื่อง MRI ร่วมกับการศึกษาทาง Material Science และ Biotechnology ทำให้ Interventional Radiology เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

      การตรวจทางรังสีวิทยาหลอดเลือด (Angiography) ถือเป็นหัตถการทางรังสีวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานในการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด ซึ่งให้ความถูกต้องและแม่นยำมากกว่าการตรวจหลอดเลือดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยถือเป็นหัตถการอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของรังสีแพทย์เฉพาะทางรังสีร่วมรักษา อีกทั้งในผู้ป่วยบางรายที่พบรอยโรคและไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด หรือมีความเสี่ยงสูงหากทำการผ่าตัด การรักษาด้วยหัตถการทางรังสีร่วมรักษา (intervention) ซึ่งเป็นหัตถการต่อยอดของทางรังสีวิทยาหลอดเลือดจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคเหล่านั้น โดยทางรังสีร่วมรักษามีชนิดของหัตถการจำนวนมาก ซึ่งมีข้อดีคือทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย และการพักฟื้นหลังหัตถการน้อย บางหัตถการสามารถทำเสร็จแล้วกลับบ้านในวันเดียวได้
อย่างไรก็ตามหัตถการทางรังสีร่วมรักษาก็มีขั้นตอนที่ซับซ้อน โดยทำการเจาะผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหรือตำแหน่งอื่นเพื่อผ่านสายสวนหลอดเลือดเข้าไป แล้วฉีดสารทึบรังสี (ฉีดสี)เพื่อตรวจดูรอยโรค และอาจทำการรักษาด้วยสารอุดหลอดเลือดหรือวัสดุต่างๆ ที่มีราคาแพง เพื่อผลการรักษาที่ดี เนื่องจากต้องมีการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์และเครี่องมือที่ทันสมัยร่วมด้วย จึงต้องการความจำเพาะของทีมงานสูง เพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรืออันตรายน้อยที่สุด การดูแลตั้งแต่การเตรียมตัวผู้ป่วย การดูแลระหว่างการทำหัตถการ และการดูแลภายหลังเสร็จสิ้น รวมไปถึงการดูแลต่อเนื่องที่หอผู้ป่วย เป็นสิ่งสำคัญ

      แพทย์ที่ทำหน้าที่ในการตรวจและรักษาโดยเทคนิคของรังสีร่วมรักษา คือรังสีแพทย์ที่ผ่านการอบรมในสาขาวิชารังสีวินิจฉัย หรือรังสีวิทยาทั่วไป และได้รับวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรแล้ว หลังจากนั้นรังสีแพทย์เหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติม (Fellowship training) ในสาขาวิชารังสีร่วมรักษา จึงจะสามารถให้การตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคของรังสีร่วมรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อได้เปรียบของแพทย์รังสีร่วมรักษาคือ แพทย์สาขานี้มีความสามารถในการแปลผลจากภาพ X-Ray หรือภาพจากเครื่องมืออย่างอื่นที่มีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ เช่น อัลตร้าซาวด์ (Utrasound), เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-Scan) เป็นอย่างดี ทำให้รู้ตำแหน่งของโรคได้แม่นยำ เช่น ถ้ามีก้อนผิดปกติอยู่ในท้อง แพทย์รังสีร่วมรักษาจะสามารถบอกตำแหน่งของก้อนได้อย่างชัดเจนว่าก้อนผิดปกตินั้นอยู่ในตับ ตับอ่อน ม้าม ไต ลำไส้ หรือด้านหลังช่องท้อง (Retroperitoneum) เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถบอกได้ว่า ก้อนผิดปกตินั้นอยู่ใกล้กับอวัยวะใด จะเกิดผลตามมาอย่างไร สามารถรักษาโดยวิธีทางรังสีร่วมรักษาได้หรือไม่เมื่อแพทย์รังสีร่วมรักษาทราบตำแหน่งของโรคแล้ว ก็สามารถเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจ หรือทำการรักษาโรคนั้นๆ ได้ โดยใช้วิธีแทงเข็มหรือใส่เครื่องมือผ่านทางผิวหนังลงไปที่ตำแหน่งของโรคโดยตรง (Percutaneous Technique) ไม่ต้องผ่าตัดลงไป ไม่ต้องดมยาสลบใช้เพียงฉีดยาชาเฉพาะที่ ที่ผิวหนังเท่านั้น วิธีนี้ก็จะช่วยลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด และการดมยาสลบ ลดระยะเวลาพักฟื้น เป็นผลให้ลดค่าใช้จ่ายจากการตรวจรักษาด้วย นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยหลายประการปัจจุบันแพทย์เหล่านี้ในประเทศไทยมีจำนวนไม่มากและมักอยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย นอกจากนี้แพทย์เหล่านี้ยังต้องทำงานเป็นทีมและใกล้ชิดกับแพทย์เจ้าของไข้ในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ หรือกุมารแพทย์ ฯลฯ

      ตัวอย่างของหัตถการ (Procedures) ทางรังสีร่วมรักษา ได้แก่ การดูดชิ้นเนื้อหรือสารน้ำมาตรวจ โดยใช้เครื่องมือทางรังสีเป็นตัวนำทาง [Image – Guided Fine Needle Aspiration]: ในกรณีที่มีก้อนเนื้อ (Tumor), ก้อนน้ำ (Cyst) หรือหนอง (Abscess) ในส่วนลึกๆของร่างกาย ที่ต้องการทราบผลทางพยาธิวิทยา หรือต้องการนำไปตรวจ หาชนิดของเชื้อโรค
การใส่สายระบายหนอง (Abscess) หรือก้อนน้ำ (Cyst)[Percutaneous Drainage] ในกรณีที่มีหนองหรือ Cyst อยู่ในส่วนลึกของร่างกาย เช่น หนองในช่องปอด (Empyema, Loculated Pleural Effusion), หนองในตับ (Liver Abscess), หนองในช่องท้อง(Intraabdominal Abscess) เป็นต้น
การใส่สายระบายน้ำดี [Percutaneous Transhepatic Biliary Drainage]: ในกรณีที่มีการอุดตันของท่อน้ำดี
การใส่สายระบายน้ำปัสสาวะ [Percutaneous Nephrostomy]:ในกรณีที่มีการอุดตันของท่อปัสสาวะ
การฉีดสีตรวจดูเส้นเลือด [Diagnostic Angiogram]: ในกรณีที่มีความผิดปกติของเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดตีบ (Stenosis), เส้นเลือดอุดตัน (Occulsion), หรือเส้นเลือดโป่งพอง (Aneurysm)
การฉีดสารเข้าไปอุดเส้นเลือด [Embolization]: เพื่อห้ามเลือดในกรณีที่มีเลือดออกมาก เช่น ไอเป็นเลือด (Hemoptysis),ถ่ายเป็นเลือด (GI-bleeding), เลือดออกในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Bleeding)หรือในการรักษามะเร็งตับ (Transhepatic Oily Chemoembolization)
การใช้บอลลูน [Balloon Angioplasty] หรือท่อสังเคราะห์[Stent Placement] เข้าไปถ่างขยายเส้นเลือด: ในกรณีที่เส้นเลือดตีบ(Stenosis)
การฉีดยาละลายลิ่มเลือดโดยตรงเข้าไปในเส้นเลือดที่มีการอุดตันจากลิ่มเลือด [Catheter -Directed Thrombolysis]: ในกรณีที่มีการอุดตันของเส้นเลือดจากลิ่มเลือดจะเห็นได้ว่ารังสีวิทยาเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้อย่างมาก สามารถนำไปใช้ได้กับโรคที่เกิดกับอวัยวะเกือบทุกระบบ ทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัยและการรักษา นับได้ว่าเป็นวิวัฒนาการก้าวหน้าสำคัญประการหนึ่งในทางการแพทย์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะพัฒนางานทางด้านรังสีวิทยาในประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศ ต้องมีความร่วมกันระหว่างรังสีแพทย์และแพทย์ทุกสาขา ในการเลือกวิธีการตรวจและรักษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้ป่วย สิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้คือการตระหนักถึงความสำคัญของวิธีการดังกล่าว และการสนับสนุนจากผู้บริหารทุกระดับ