พันธกิจของแผนการฝึกอบรม/ หลักสูตร
จากเหตุการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ SARS-CoV-2 virus ที่ผ่านมาตลอด 3 ปี ทำให้เห็นว่ารังสี แพทย์มีส่วนร่วมอย่างมากในทีมสหสาขาวิชาชีพในการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางรังสีวินิจฉัยตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงเทคโนโลยีขั้นสูงและประชาคมธรรมศาสตร์เองก็ได้มีส่วนร่วมอย่างมากในการรับใช้ประชาชนในพื้นที่ปทุมธานีและบริเวณใกล้เคียงด้วยการเปิดโรงพยาบาลสนามที่มีคุณภาพเป็นแห่งแรกๆ ของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันได้แก่ “มหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน” และปณิธานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันได้แก่ “Thammasat for People”
เนื่องด้วยความก้าวหน้าของการดูแลรักษาผู้ป่วยในยุคสหสาขาวิชาชีพ ศาสตร์สาขาวิชารังสีวิทยามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ มากขึ้นกว่าอดีตมาก ทั้งในแง่มุมของการวินิจฉัย การตรวจติดตามการตอบสนองการรักษา และประเมินภาวะแทรกซ้อนของการรักษา ดังนั้นรังสีแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของทีมการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องมีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นทั้งที่เป็นแพทย์ด้วยกันและผู้ร่วมงานทางด้านสาธารณสุข ทักษะการทำวิจัย ทักษะเกี่ยวกับการบริหารและระบบบริการสุขภาพของประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายสุขภาพระดับประเทศอย่างมีประสิทธิผล
นอกจากนี้ เทคโนโลยีในด้านรังสีวินิจฉัยได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเครื่องมือในการวินิจฉัย ระบบปฏิบัติการ (software) จนไปถึงปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ดังนั้นรังสีแพทย์ต้องมีความสามารถก้าวทันเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดูแลผู้ป่วย
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ทำการปรับปรุงเกณฑ์และเนื้อหาของหลักสูตรการฝึกอบรมให้ครอบคลุมและ เหมาะสมกับวิทยาการที่พัฒนาเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับผลการประเมินหลักสูตรฉบับ 2562 สอดคล้องกับหลักสูตรของราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 และเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และปณิธานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นที่มาของพันธกิจของหลักสูตรการฝึกอบรมของภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังนี้
“เพื่อผลิตรังสีแพทย์ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน ที่มีคุณสมบัติ”
- มีความรู้ความสามารถทำการตรวจและควบคุมการตรวจ การอ่าน วิเคราะห์ และรายงานผลภาพวินิจฉัยทางรังสีวิทยาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- มีความสามารถในการทำงานแบบมืออาชีพ โดยมีทักษะด้าน non – technical skills สามารถปฏิบัติงาน แบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมในการบริบาลผู้ป่วย, มีความเอื้ออาทรและใส่ใจในความปลอดภัยเพื่อการแก้ไขปัญหาและการส่งเสริมสุขภาพ โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวมที่คำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ได้อย่างเหมาะสม, และมีจริยธรรม เจตคติ และพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมต่อผู้ป่วยและญาติ ผู้ร่วมงานทุกระดับ และองค์กร โดยยึดถือความเท่าเทียมไม่แบ่งแยกเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง
- มีทักษะด้านการวิจัย และสามารถพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะของตนเองทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยได้อย่างต่อเนื่อง (continuing professional development) เพื่อให้สอดคล้องทันสมัยกับความก้าวหน้าและพัฒนาการทางการแพทย์ และเตรียมพร้อมต่อโรคอุบัติใหม่ ภัยพิบัติและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ผลลัพธ์ของแผนงานฝึกอบรม / หลักสูตร
กำหนดผลลัพธ์การฝึกอบรมที่พึงประสงค์ (intended learning outcomes / milestones)
ของรังสีแพทย์ที่สำเร็จการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง ครอบคลุมประเด็น 6 ด้าน ดังต่อไปนี้
- ทักษะและเจตคติในการบริบาลผู้ป่วย (Patient care)
1.1 ทักษะในการให้คำปรึกษาและแนะนำ (consultation and recommendation) เกี่ยวกับการตรวจและการทำหัตถการทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงในภาวะหรือโรคที่หลากหลายให้แก่ผู้ป่วยและ แพทย์สาขาอื่นได้อย่างเหมาะสมกับข้อบ่งชี้ของโรค โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบ องค์รวม พิจารณาและคำนึงถึงความเหมาะสม ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ความเสี่ยง และประโยชน์ของ ผู้ป่วยเป็นหลัก
1.2 มีทักษะในการขอใบแสดงความยินยอม (obtaining informed consent) ในกรณีที่ทำการตรวจทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงที่มีการใช้ contrast agent และการทำหัตถการ โดยมีความสามารถในการแจ้งรายละเอียดให้ผู้ป่วยทราบก่อนการตรวจ ทั้งในด้านข้อบ่งชี้ ขั้นตอนการตรวจ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
1.3 มีทักษะในการเตรียม วางแผนการตรวจ และดูแลผู้ป่วยที่มารับการตรวจวินิจฉัย และ การทำหัตถการ ทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงได้อย่างเหมาะสม
1.4 มีทักษะในการตรวจพบภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการตรวจวินิจฉัย และการทำ หัตถการทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงได้ และสามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้นและส่งต่อได้อย่างเหมาะสม
1.5 มีทักษะในการติดตามและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยในการดูแลตัวเองหลังการตรวจ วินิจฉัยและหลังจากได้รับ contrast agent ได้อย่างเหมาะสม
1.6 มีทักษะในการจัดการดูแลและจัดการความเสี่ยงในกรณีที่เกิดอุบัติการณ์ร่วมกับหน่วย บริหารความเสี่ยงของโรงพยาบาล
- ความรู้ทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงทั้งในภาวะที่ไม่รีบด่วนและในภาวะฉุกเฉินหรือวิกฤต (Medical knowledge and technical skills)
2.1 มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในการอ่าน วิเคราะห์ และรายงานผลการตรวจด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูง
2.2 มีความรู้ด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงทั้งในภาวะที่ไม่รีบด่วนและในภาวะฉุกเฉินหรือวิกฤต
2.3 มีความชำนาญในการทำหัตถการที่เกี่ยวข้องกับอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง
- การพัฒนาปรับปรุงตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based learning and improvement)
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องแสดงทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ สูงสุดในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัวผู้ป่วย บุคลากรวิชาชีพด้านการบริการสุขภาพและ หน่วยงานด้านสุขภาพอื่น ๆ โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้อง
3.1 สื่อสารได้อย่างเหมาะสมทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว และ สาธารณชน
3.2 สื่อสารได้อย่างเหมาะสมกับแพทย์ บุคลากรวิชาชีพด้านการบริการสุขภาพและ หน่วยงานด้านสุขภาพอื่น ๆ รวมถึงการรายงานผลการตรวจทั้งแบบเอกสารและวาจา และข้อมูลที่เกี่ยวข้องจาก เวชระเบียนได้อย่างชัดเจน ครอบคลุมและถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
3.3 สามารถให้คำปรึกษาแนะนา ในเรื่องการส่งตรวจ การตรวจหรือการรักษาทางรังสีวิทยา ข้อบ่งชี้ ข้อจำกัดและความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยแก่แพทย์ บุคลากรวิชาชีพด้านการบริการสุขภาพและ หน่วยงานด้านสุขภาพอื่น ๆ
3.4 สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมทั้งในฐานะสมาชิกหรือหัวหน้าทีมในการดูแล สุขภาพร่วมกับบุคลากรในสาขาวิชาชีพเดียวกัน สหสาขาวิชาชีพและหน่วยงานด้านสุขภาพอื่น ๆ
3.5 สามารถใช้สื่อชนิดต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยและการรักษาความลับผู้ป่วย
- ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and communication skills)
4.1 มีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบในการดูแลผู้ป่วย
4.2 มีการพัฒนาการเรียนรู้ การประเมิน และการปรับปรุงการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากการ สะท้อนตนเอง และการสะท้อนกลับจากหลักสูตร รวมทั้งมีวิจารณญาณในการใช้ข้อมูล ด้วยหลักการของระบาด วิทยาคลินิก และเวชศาสตร์เชิงประจักษ์
4.3 การฝึกเป็นนักวิชาการ (Scholarly activity)
– การเรียนรู้โดยการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยจริง ในการตรวจทางรังสีวิทยา อ่าน และรายงานผลภาพโดยผ่านการค้นหาความรู้ด้วยตนเอง (self-directed learning)
– รับปรึกษาการส่งตรวจทางรังสีวิทยาจากแพทย์ต่างสาขาทั้งในเวลาราชการและ นอกเวลาราชการ
– ทำงานวิจัย ตามที่หลักสูตรฯ กำหนด
- มีพฤติกรรมแห่งวิชาชีพและความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมแห่งวิชาชีพที่ดีของแพทย์ดังนี้
5.1 แพทย์ประจำบ้านอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูงมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพและสามารถให้การบริบาลตามหลักเวชจริยศาสตร์ ในการให้บริบาลทางการแพทย์และสุขภาพแบบองค์รวมแก่ประชาชนทุกระดับ
5.2 มีแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูงทุกชั้นปี มีความสนใจใฝ่รู้และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (lifelong learning)
- การปฏิบัติงานตามระบบ (System-based practice)
6.1 แพทย์ประจำบ้านอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูงทุกชั้นปี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ สุขภาพและระบบยาของประเทศ อาทิเช่น ระบบประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการการ รักษาพยาบาลของข้าราชการ ระบบประกันชีวิต ระบบการชดเชยการรักษา และระบบบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นต้น
6.2 แพทย์ประจำบ้านอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูงทุกชั้นปีมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายทางการแพทย์รวมถึงสิทธิผู้ป่วย
6.3 แพทย์ประจำบ้านอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูงทุกชั้นปีมีความรู้และมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น hospital accreditation โดยเฉพาะการดูแลและการใช้เครื่องมือทางรังสีวิทยา การควบคุมคุณภาพทางรังสีวิทยา การรายงานอุบัติการณ์ความเสี่ยงทางรังสีวิทยา และค่าตรวจทางรังสีวิทยาที่พบบ่อย
6.4 แพทย์ประจำบ้านอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูงทุกชั้นปี มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม
»คู่มือการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง มธ. คลิกที่นี่
»หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน อนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง(มคว2) มธ. คลิกที่นี่