แพทย์ประจำบ้าน อนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง

พันธกิจของแผนการฝึกอบรม / หลักสูตร

 

“ผลิตรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูง ที่มีความรู้ความสามารถความชำนาญและทักษะด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง สามารถเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตและประกอบวิชาชีพด้วยเจตคติที่ดีมีจริยธรรมและทันสมัย โดยยึดหลักการบริบาลแบบองค์รวมและมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง รับผิดชอบและคำนึงถึงความต้องการด้านสุขภาพของคน ชุมชน สังคมและระบบบริการสุขภาพของประเทศ สามารถพัฒนาองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีพฤตินิสัยเหมาะสมในการทำงานกับทีมสหสาขาหรือสหวิชาชีพและกับผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนการครองตนอย่างมีคุณค่าและสุขภาพที่ดี”

 

ผลลัพธ์ของแผนงานฝึกอบรม / หลักสูตร

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดผลลัพธ์การฝึกอบรมที่พึงประสงค์ (intended learning outcomes / milestones) ของรังสีแพทย์ที่สำเร็จการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง ครอบคลุมประเด็น 6 ด้าน ดังต่อไปนี้

  1. ทักษะและเจตคติในการบริบาลผู้ป่วย (Patient care)
  • ทักษะในการให้คำปรึกษาและแนะนำ (consultation and recommendation) เกี่ยวกับการตรวจและการทำหัตถการทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงในภาวะหรือโรคที่หลากหลายให้แก่แพทย์สาขาอื่นได้อย่างเหมาะสมกับข้อบ่งชี้ของโรค โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม พิจารณาและคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ความเสี่ยง และประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก
  • ทักษะในการขอใบแสดงความยินยอม (obtaining informed consent) ในกรณีที่ทำการตรวจทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงที่มีการใช้ contrast agent และการทำหัตถการ
  • ทักษะในการเตรียมและดูแลผู้ป่วยที่มารับการตรวจวินิจฉัย และการทำหัตถการ ทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงได้อย่างเหมาะสม
  • ทักษะในการตรวจพบภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการตรวจวินิจฉัย และการทำหัตถการทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูง และสามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม
  1. ความรู้ทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงทั้งในภาวะที่ไม่รีบด่วนและในภาวะฉุกเฉินหรือวิกฤต (Medical knowledge and technical skills)
  • มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในการอ่าน วิเคราะห์ และรายงานผลการตรวจด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูง
  • มีความรู้ด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงทั้งในภาวะที่ไม่รีบด่วนและในภาวะฉุกเฉินหรือวิกฤต
  • มีความชำนาญในการทำหัตถการที่เกี่ยวข้องกับอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง
  1. การพัฒนาปรับปรุงตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based learning and improvement)
  • เรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
  • ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
  • วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางการแพทย์ได้
  1. ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and communication skills)
  • สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเมตตา เคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ได้แก่
  • การสื่อสารเกี่ยวกับวิธีการตรวจทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูง การขอใบแสดงความยินยอม
  • การสื่อสารเกี่ยวกับข้อผิดพลาด ภาวะแทรกซ้อน หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
  • สื่อสารให้ข้อมูล โดยรายงานผลการตรวจเป็นเอกสาร (reports) หรือด้วยวาจา แก่ทีมดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูง ให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์
  • เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูงแก่แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และบุคลากรอื่น
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับได้อย่างราบรื่น
  • มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยและญาติ อาจารย์ รวมทั้งผู้ร่วมงานในวิชาชีพทุกระดับ
  1. มีพฤติกรรมแห่งวิชาชีพและความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมแห่งวิชาชีพที่ดีของแพทย์ดังนี้
  • มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติอันดีต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพ และชุมชน
  • มีทักษะด้านที่ไม่ใช่เทคนิค (non-technical skills) และสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้เหมาะสม
  • มีความสนใจใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (continuing professional development)
  • มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพและมีเจตคติที่จะใช้วิชาภาพวินิจฉัยชั้นสูงให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและประเทศ
  • มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
  • คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม
  • มีความเป็นอิสระทางวิชาชีพเพื่อให้สามารถปฏิบัติต่อผู้ป่วยและชุมชนได้อย่างดีที่สุด
  1. การปฏิบัติงานตามระบบ (System-based practice)
  • มีความรู้ด้านระบบพัฒนาคุณภาพ (quality improvement) ทางรังสีวิทยา ได้แก่
  • กระบวนการในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางด้านการตรวจทางรังสีวิทยาวินิจฉัย (เช่น radiation safety) ทั้งต่อผู้ป่วยและบุคลากรการแพทย์
  • การรายงานอุบัติการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ
  • กระบวนการในการกำกับดูแลการใช้เครื่องมือและระบบสารสนเทศทางด้านภาพวินิจฉัยชั้นสูง
  • ความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ
  • มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย
  • ใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (cost consciousness medicine) และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ

 »คู่มือการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง มธ. คลิกที่นี่

»หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน อนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง(มคว2) มธ. คลิกที่นี่