ประวัติภาควิชา

ประวัติความเป็นมา

เมื่อปี พ.ศ.2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกา การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2533 มีการแบ่งส่วนราชการของคณะแพทยศาสตร์ออกเป็น 4 ส่วน คือ สำนักงานเลขานุการ, สถานวิทยาศาสตร์พรีคลินิก, สถานวิทยาศาสตร์คลินิก และ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งนับเป็น คณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 9 ของรัฐ โดยสาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา เป็นหนึ่งใน สาขาวิชาภายใต้การกำกับของ สถานวิทยาศาสตร์คลินิก และเนื่องจากมีหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะนักศึกษาแพทย์ในระดับชั้นคลินิกเท่านั้น  สาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยาจึงเริ่มเปิดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ในชั้นคลินิก รุ่นที่1 เมื่อปี พ.ศ.2537 และ ต่อมาในปี พ.ศ.2543 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคำสั่งให้การบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แยกจากสังกัดคณะแพทยศาสตร์ไปสังกัดสำนักงานอธิการบดี  แต่ในส่วนของสาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ยังคงสังกัดสถานวิทยาศาสตร์คลินิก คณะแพทยศาสตร์ เช่นเดิม

คณะแพทยศาสตร์ ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในหลายๆด้าน ทั้งด้านการเรียนการสอน พร้อมๆกับการขยายตัวในแต่ละสาขาวิชา ทั้งจำนวนอาจารย์ นักศึกษาแพทย์ และ เริ่มมีการฝึกอบรมหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านในหลายสาขาเพิ่มมากขึ้น ทำให้โครงสร้างการบริหารงาน ของแต่ละสาขาวิชา ที่ต้องดำเนินงานด้านธุรการร่วมกันภายใต้การกำกับของสถานวิทยาศาสตร์คลินิก คณะแพทยศาสตร์นั้นไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  คณะแพทยศาสตร์จึงได้มีการปรับเปลี่ยน จากสาขาวิชา เป็น ภาควิชา ในปี พ.ศ.2548  เพื่อพัฒนางาน และสามารถปรับอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ธุรการในภาควิชาต่างๆได้สะดวกขึ้น                                       โดยในปลายปี 2563 ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ได้รับ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ ของภาควิชาโสตฯ จำนวน 1 อัตรา และ ทำการจัดตั้งสำนักงานภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ขึ้น ที่บริเวณชั้น 6 ตึกกิตติวัฒนา โดยมี อาจารย์ผู้เชียวชาญสาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา จากสังกัดคณะแพทย์ วิทยาลัยแพทย์ฯ และ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 14 ท่าน และ อาจารย์พิเศษ 1 ท่าน

ปัจจุบัน ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา  มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนสำหรับหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตในชั้นคลินิก  และหลักสูตรหลังปริญญา  นอกจากนี้อาจารย์ในภาควิชา ยังมีหน้าที่ให้บริการวิชาการแก่สังคม  ทำการวิจัย  ตลอดจนพัฒนานักศึกษา และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  บทบาทและหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้ มีทั้งที่เป็นโครงการและแผนงานโดยตรงของภาควิชา  โดยการมีส่วนร่วมกับคณะแพทยศาสตร์และหน่วยงานอื่นๆ การบริหารในภาควิชา จึงเน้นการประสานงานระหว่างภาควิชา และหน่วยงานต่างๆ ในคณะแพทยศาสตร์  ทั้งนี้เพื่อให้มีการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน  (Integrated and holistic  approach) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา รับผิดชอบการเรียนการสอนระดับก่อนปริญญาโดยสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4  ปีที่ 5  และปีที่ 6   ส่วนในด้านการบริการการศึกษาระดับหลังปริญญา ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา  ได้เปิดการฝึกอบรมหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านสาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา  ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 โดยเปิดรับแพทย์ประจำบ้าน จำนวน 2 คนต่อปีการศึกษา และ ในปีการศึกษา 2564 ได้เพิ่มเป็น 3 คนต่อปีการศึกษา

รายชื่อผู้บริหาร ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา

       ผศ.พญ.อมรวรรณ  นิลสุวรรณ    ดำรงตำแหน่งหัวหน้า    พศ. 2536-2543

รศ.นพ.ไวพจน์  จันทร์วิเมลือง    ดำรงตำแหน่งหัวหน้า    พศ. 2543-2546

       ผศ.พญ.อมรวรรณ  นิลสุวรรณ    ดำรงตำแหน่งหัวหน้า    พศ. 2546-2548

ผศ.นพ.เอกวุฒิ  ธนานาถ          ดำรงตำแหน่งหัวหน้า    พศ. 2548-2552

       ผศ.พญ.อมรวรรณ  นิลสุวรรณ    ดำรงตำแหน่งหัวหน้า    พศ. 2552-2558

ผศ.พญ.นิดา ไรท์                    ดำรงตำแหน่งหัวหน้า     พศ.2558-2563

       รศ.นพ.ไวพจน์ จันทร์วิเมลือง    ดำรงตำแหน่งหัวหน้า     พศ. 2563-ปัจจุบัน