Stress relief : ทำอะไรได้บ้างเพื่อคลายเครียด
ถึงจะเครียด แต่เรารู้แล้วว่าการผ่อนคลายความเครียดนั้นไม่ยากเลย
รับรู้อารมณ์ รู้ทันความเครียด
สำคัญมากที่ต้องรับรู้สัญญาณของความเครียดเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกดดันและไม่เพิกเฉยต่อสัญญาณนั้น โดยหลายคนเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น อาจรับรู้สัญญาณจากอาการทางกาย เช่น กล้ามเนื้อตึงเครียด รู้สึกเหนื่อย ปวดเนื้อตัว ปวดหัว หรือไมเกรน อาการเหล่านี้เมื่อรู้เท่าทันแล้วพยายามผ่อนคลายความเครียด อาการก็อาจทุเลาลงได้ สำหรับบางคนอาจจะไม่มีสัญญาณทางกายเด่นชัด แต่รู้สึกได้ว่าไม่ค่อยสบายใจเลย อาจลองหาสาเหตุก่อนว่าสิ่งใดที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เพราะจริงๆ นั่นอาจเป็นเจ้าความเครียดที่แอบซ่อนอยู่ก็ได้
การรับรู้ถึงอารมณ์เครียดนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นการเริ่มก้าวเล็กๆ ที่จะทำให้อารมณ์เครียดถูกจัดการอย่างเหมาะสม เป็นรูปธรรม มีเป้าหมายและอยู่ภายใต้กรอบของความจริง แต่เมื่อรู้สึกท่วมท้นขึ้นมาในระหว่างนั้น ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญค่ะ
ให้เวลากับตัวเอง
อาจให้เวลาตัวเองพักผ่อนในเวลาหลังเลิกงาน และทำกิจกรรมทำให้เกิดความรู้สึกด้านบวกต่อตนเอง อาจจะเป็นกิจกรรมพัฒนาตัวเอง เช่น ฟัง podcast เกี่ยวกับสิ่งที่ชอบหรือสนใจ รวมถึงฟัง podcast เกี่ยวกับการผ่อนคลายอารมณ์เพื่อให้ร่างกายและจิตใจสงบลง เพิ่มความสมดุล ระหว่างความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่องาน ต่อสังคม
การแบ่งเวลาอย่างเหมาะสม
พยายามจัดเรียงความสำคัญของการเรียน รวมถึงการบ้านแต่ละวิชา ชิ้นงานไหนที่ต้องรีบทำให้เสร็จ และชิ้นงานไหนยังสามารถรอได้ ต้องแยกให้ออก เมื่อแยกได้แล้วต้องมุ่งทำงานที่เร่งด่วนที่สุดให้เสร็จก่อน นอกจากนี้ ควรฝึกการปฏิเสธ โดยเฉพาะงานที่ไม่จำเป็นสำหรับตัวเอง เป็นงานที่ไม่ได้อยากทำ หรืองานแถมจากเพื่อนที่เทมาให้
การพักผ่อนให้เพียงพอ
หากมีภาวะนอนหลับยาก ก็ไม่เสียหายที่จะลองลดปริมาณการดื่มกาแฟลงถ้าทำได้ นอกจากนี้ควรลดเวลาการใช้ screen time หรือลดการจดจ่ออยู่กับ social media ก่อนนอน แต่ลองจด to do list ที่ต้องทำในวันถัดไปเพื่อช่วยวางแผนและจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำแทน ทั้งนี้ เมื่อจด to do list เสร็จแล้วหากรู้สึกตื่นตัวมาก ต้องใช้เวลารอสักพักก่อนจะเข้านอน
ขยับ
แม้มันจะยากที่เราต้องฝืนตัวเองให้ทำอะไรในช่วงเวลาที่เครียด แต่การทำกิจกรรมที่ออกแรงกายนั้นเราช่วยให้ลดความเครียดลงได้ เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬา หรือเล่นกีฬาหนักๆนานๆ ก็ได้ อาจออกกำลังกายง่ายๆ เช่น เดินในสวนสัก 15-20 นาที ทำ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ การพาตัวเองไปเดินจะทำให้เราได้มองอะไรอย่างอื่น ดูฟ้า ดูต้นไม้ แทนที่จะอยู่กับสิ่งเร้าที่ทำให้เราเครียด หรือถ้าไม่อยากออกไปไหนก็ลองออกกำลังกายแบบ low impact เริ่มจาก 10 นาที ก่อนก็ได้
การสร้างสัมพันธภาพที่ดีที่คอยสนับสนุนกันและกัน
พอจะหาเพื่อนคนสนิท หรือสมาชิกในครอบครัวคนที่รู้สึกสนิท ที่เขาพอจะรับฟังเราได้ในเวลาที่เราอยากพูดคุยหรือระบายความอึดอัดในใจ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่พอจะช่วยให้เราจัดการกับความเครียดได้
นอกจากนี้ การเข้าร่วมกับกลุ่มสังคม การลองไปเป็นอาสาสมัคร หรือเข้าเรียนในคอร์สเรียนที่สนใจ ยังช่วยให้เราได้เข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ๆ ได้ขยายขอบข่ายทางสังคม และได้ทำกิจกรรมใหม่ที่แตกต่างออกไปจากการดำเนินชีวิตแบบเดิม ซึ่งอาจจะช่วยให้ปรับเปลี่ยนมุมมองบางอย่างของเรา และช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลายขึ้น
การหัวเราะ
ดูเหมือนแปลกๆ แต่จริงๆ แล้วการหัวเราะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้ และหลายคนยังยกให้วิธีนี้เป็นยาดีอีกด้วย
การหัวเราะออกมา สามารถช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิตและคลายความตึงเครียด นอกจากนี้การหัวเราะยังช่วยเพิ่มระดับ endorphins และช่วยเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลาย
สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการทำกิจกรรมที่ช่วยให้หัวเราะ เช่น อ่านการ์ตูนตลก ดูภาพตลก อ่านมีม เล่นของเล่นตลก นอกจากนี้ การแบ่งปันเรื่องตลกกับเพื่อนร่วมงานหรือคนที่ไว้ใจ ยังทำให้ผ่อนคลายอารมณ์ได้ง่ายขึ้น เป็นการช่วยเตือนตัวเองว่าไม่ได้ serious จนเกินไป ส่งผลดีต่อการคุมระดับความเครียดของเราแบบที่เราอาจจะไม่รู้ด้วยเลย
ใจดีต่อตัวเอง
พยายามไม่ใจร้ายกับตัวเองจนเกินไป มองหาด้านบวกของตนเองและจดออกมาให้เห็นเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันกับตัวเองเวลาที่ไม่โอเคกับตัวเอง
ออกเดินทางไปพักผ่อน
บางเวลาเราอาจจะรู้สึกว่ากำลังรับมือกับบางอย่างที่หนักหนาเหลือเกินจนรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ
เช่น ในเวลาที่เรียนหรือทำงานเราพยายามอย่างมากที่จะจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ตอนนี้ขอให้จัดเรียงลำดับความสำคัญให้ตัวเองก่อน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ตัวเองได้จัดการอารมณ์ที่ยุ่งเหยิง ขอเวลานอกให้ตัวเองได้ออกไปพักผ่อนหย่อนใจ แล้วค่อยกลับมาจัดการงานที่ค้างคา (แต่งานค้างนั้นจะต้องไม่ไปทำให้เพื่อนในกลุ่มเดือดร้อนนะ)
หากรู้สึกเครียดอย่างมาก หรืออาจจะรู้สึกหนักอกหนักใจ บอกไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วรู้สึกอย่างไร รู้สึกว่ากำลังรับมือกับความรู้สึกแบบนี้ไม่ไหวแล้ว ควรเข้าปรึกษาบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพื่อรับการช่วยเหลือ
Powered by Froala Editor