การใช้สารเสพติด
สารเสพติด : แบบนี้เรียกติดไหมนะ บุหรี่ เหล้า ฯลฯ
วัยของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยคือวัยที่เปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ เริ่มค้นพบอัตลักษณ์ของตนเอง เริ่มเรียนรู้และสำรวจโลกของการเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างอิสระมากขึ้นโดยไร้การควบคุมจากผู้ปกครอง ใครที่สำรวจเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์และควบคุมตัวเองได้ก็ถือว่าโชคดี แต่ใครที่ลุ่มหลงกับโลกใบใหม่จนลืมเหยียบเบรกก็อาจถูกดึงให้ไปอยู่อีกโลกได้ง่าย
เคยไหมที่รู้สึกเครียดและกดดันจากการเรียน การใช้ชีวิตช่วงกลางวันก็แสนน่าเบื่อกว่าจะผ่านไปได้แต่แม้จะเบื่อหรือเหนื่อยหน่ายแค่ไหน เราก็อยากรับผิดชอบหน้าที่หลักของตัวเองให้ดี ความกดดันที่กดทับเรานี้มักหนักหนาเหลือเกินจนทำให้เราแสวงหาวิธีการไหนก็ได้ที่ทำให้เราผ่อนคลายมันลงได้เร็วๆ ในบางคนเมื่อถึงเวลาพักเบรคจึงต้องรีบออกจากห้องเรียนแล้วหยิบบุหรี่ขึ้นมาจุดไฟ บรรจงสูดเข้าไปยาวๆ แล้วปล่อยควันออกมา หลายคนบอกว่าสิ่งนี้ทำให้รู้สึกดีขึ้นได้รวดเร็วและง่ายสำหรับการพักสั้นๆ (นอกจากบุหรี่ธรรมดาแล้ว ก็มี Disposable vape ที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน)
ช่วงหัวค่ำเมื่อเลิกเรียนแล้ว ก็มีหลายคนที่ต้องผ่อนคลายอารมณ์ที่หนักมาทั้งวัน ออกไปนั่งฟังเพลงที่ชอบ จิบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางคนอาจชวนเพื่อนไปด้วยเป็นกลุ่ม ได้กินดื่มด้วยกันแล้วรู้สึกสนุกและผ่อนคลาย จนรู้ตัวอีกทีก็ต้องออกไปนั่งที่ร้านแทบทุกคืน นอกจากการใช้ตัวช่วยอย่างสุราหรือบุหรี่แล้ว บางคนมีการใช้กัญชา ยาบ้า รวมถึงยาไอซ์ เพื่อช่วยให้รู้สึกสนุกทดแทนช่วงเวลาที่หนักหนาของตน
นอกจากปัจจัยของการพยายามทำให้อารมณ์ผ่อนคลายอย่างรวดเร็วแล้ว อาจมีปัจจัยเสริมอื่นร่วมด้วยสำหรับปัญหาการใช้สารเสพติด ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ การใช้ชีวิตที่มีอิสระมากขึ้นสามารถกำหนดเวลาทำกิจกรรมด้วยตนเอง การสร้างเครือข่ายทางสังคมและการหาเพื่อนใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาหลากหลายรูปแบบ แต่ที่อยากเน้นย้ำคือปัญหาด้านสุขภาพจิต
สัญญาณใดบ้างที่ทำให้รับรู้ว่ากำลังติดการใช้สารแล้วนะ
-เริ่มโดดเรียน มีผลการเรียนแย่ลง
-หลีกเลี่ยงการร่วมกลุ่มกับเพื่อนหรือครอบครัว
-ไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่เคยทำแล้วสนุก
-หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการใช้สุราหรือยาเสพติด
-ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการใช้สาร รวมถึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพักฟื้นจากฤทธิ์ของสาร
-มีความต้องการดื่มหรือใช้สารเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย หรือมีช่วงเวลาที่ดี
-มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย เช่น รู้สึกเศร้า รู้สึกหงุดหงิดหรือโกรธง่าย
-มีอาการถอนยา เช่น ปวดหัว เศร้า มีอาการอยากยา
-เริ่มปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพกาย รู้สึกว่าสขภาพแย่ลง
- เริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต มีปัญหาสมาธิและความจำ
-มีพฤติกรรมเสี่ยงระหว่างใช้สาร เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน
อย่างไรก็ตาม ในบางคนแม้จะทราบแล้วว่าตนมีพฤติกรรมการใช้สารที่เป็นโทษต่อร่างการแล้วและต้องการหยุดใช้ เราจะพบว่าการหยุดใช้สารเสพติดทันทีนั้นยากมาก เพราะการติดใช้สารไม่เพียงแต่เป็นการติดโดยกายภาพเท่านั้น แต่เป็นการติดจากสมอง การรักษาตามวิธีที่เหมาะสมจะช่วยลดความต้องการเสพและทำให้เลิกใช้สารได้ง่ายขึ้น
จะทำอย่างไรหากสงสัยว่าเพื่อนติดสารเสพย์ติด
หลายครั้งเพื่อนเราอาจไม่รู้ว่าตนเองกำลังติดสารเสพย์ติด คงต้องอาศัยเพื่อนในการสังเกตเพื่อน หากพบว่ามีเพื่อนที่มีพฤติกรรมใช้สารเป็นประจำแล้ว อาจเริ่มจากการแสดงความห่วงใย แสดงความใส่ใจและพูดคุยกับเพื่อน อาจสื่อสารออกไปตรงๆ ว่าเราห่วงเรื่องสุขภาพและผลการเรียน แต่ต้องหลีกเลี่ยงการพูดเชิงตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้ หากพูดแล้วเพื่อนไม่ยอมรับฟังให้ทำความเข้าใจว่าเพื่อนยังไม่พร้อมจะพูดคุยเรื่องนี้ เราสามารถชวนคุยใหม่ได้ภายหลัง
แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะเลิกใช้สารทันที แต่อยากชวนให้ฝึกรับมือกับความต้องการใช้จากวิธีเหล่านี้ (หากทำควบคู่ไปกับการรับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญก็จะดีมาก)
-เมื่อรู้สึกเครียดหรือไม่สบายใจ ให้ลองหยุดพักกิจกรรมสักครู่ หายใจเข้าและออกช้าๆ พยายามทำใจให้ปลอดโปร่งก่อนจะก้าวขาหรือเอื้อมมือไปหยิบสารเสพย์ติดนั้น หากสามารถหาทางแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับสถานการณ์นั้นได้อย่างตรงไปตรงมาก็ยิ่งดี ขั้นตอนนี้จะช่วยให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมปกติที่เมื่อเกิดเรื่องเครียดขึ้นแล้วเรามักจะสูบบุหรี่เพื่อคลายเครียดทันที
-บางครั้งเราพบว่าหากเรามีเวลาว่างก็จะนึกถึงสารเสพติดขึ้นมาซะอย่างนั้น จึงอยากลองให้หากิจกรรมทำ ทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ แต่ไม่ใช่ยุ่งเพราะกิจกรรมการเรียนอย่างเดียวนะ ต้องยุ่งเพราะกิจรรมที่เป็นงานอดิเรก กิจกรรม self-care หรือกิจกรรมที่สร้างสรรค์ด้วย การได้ทำกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้คุณใช้เวลาของตัวเองอย่างคุ้มค่า มีประโยชน์และช่วยให้รู้สึกดี
-ใช้เวลากับกลุ่มเพื่อนและเข้าร่วมกับกลุ่มเพื่อนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากได้ความสนุกสนานแล้วยังได้พัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ อีกด้วย
-รักษาสุขภาพสม่ำเสมอ พยายามทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในวันที่รู้สึกเหนื่อยก็ให้รางวัลตัวเองด้วยอาหารที่ชอบ
-ออกกำลังกาย ช่วยให้บรรเทาความเครียด วิตกกังวล รวมถึงอารมณ์เศร้า และยังเป็นการใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์
-ฝึกทำสมาธิ โดยมีเป้าหมาย คือ เพื่อใช้เวลาอย่างผ่อนคลายมากขึ้น ไม่รีบร้อนไปกับสถานการณ์ที่รวดเร็วรอบตัว กิจกรรมนี้จะช่วยให้อยู่กับช่วงเวลาที่เป็นปัจจุบัน สังเกตความคิด อารมณ์ รวมถึงประสบการณ์ภายในของตนเอง