ซึมเศร้า
ห่อเหี่ยว ไร้จุดหมาย เมื่อความเศร้ากัดกินใจ
นอกจากนักศึกษาแพทย์จะเผชิญกับความเครียดและความกังวลแล้ว ความเศร้าก็นับเป็นอีกอารมณ์หนึ่งที่พบได้บ่อยความเศร้านั้นเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในชีวิต แต่ภาวะซึมเศร้านั้นต่างจากอารมณ์เศร้าทั่วไปภาวะซึมเศร้านั้นเป็นความเศร้าที่มาและยาวนานเกินความเศร้าปกติ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อความคิด ความรู้สึก รวมถึงการรับมือกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทาน การนอนหลับ การเรียน รวมถึงการทำงาน โดยรบกวนการทำหน้าที่ดังกล่าวและลดประสิทธิภาพของศักยภาพที่แท้จริงลง
มาลองดูสัญญาณเตือนที่มักเกิดขึ้นเวลามีภาวะซึมเศร้า
-มักจะเผชิญกับอารมณ์ด้านลบ เช่น มีอารมณ์เศร้า ในบางคนอาจรู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายขึ้น เริ่มมีส่วนในบทสนทนาน้อยลง ทำกิจกรรมทางสังคมน้อยลง หรือมีการระเบิดอารมณ์ ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าอารมณ์ได้ถึงขีดสุดแล้ว
-กิจวัตรการรับประทานและการนอนเริ่มไม่เป็นไปตามปกติ เนื่องจากเมื่อเผชิญกับภาวะอารมณ์เศร้า จะส่งผลให้มีความอยากอาหารลดลงหรืออยากอาหารเพิ่มขึ้นในบางคน มีความต้องการนอนมากขึ้นหรือมีปัญหาการนอน โดยอาจนอนหลับๆ ตื่นๆ หรือนอนไม่หลับเลยทั้งคืน
-ไม่สนใจทำกิจกรรมสันทนาการหรืองานอดิเรก และพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ทางสังคม มีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนน้อยลง เหล่านี้ต่างก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้า ร่วมกับความเหงาและโดดเดี่ยว ก็ยิ่งทำให้ความเศร้านั้นทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
-มีความรู้สึกผิดอย่างมากและบางทีก็ให้เหตุผลไม่ได้ว่าทำไมต้องรู้สึกผิดมากขนาดนั้น นอกจากนี้ อาจคิดว่าตนยังทำหลายอย่างได้ไม่ดีพอ เผลอต่อว่าตัวเองด้วยคำพูดร้ายแรงและเป็นคำพูดในแง่ลบ
หากอยากประเมินตัวเองว่าเรากำลังเศร้าในระดับไหน อาจลองทำแบบทดสอบระดับความเศร้า ความกังวลและความเครียด นี้
เราจะรับมือกับภาวะซึมเศร้าได้อย่างไรบ้าง
-จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เนื่องจากความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้า ดังนั้น การจัดการความเครียดจึงมีความสำคัญมาก นักศึกษาควรทดลองฝึกใช้วิธีผ่อนคลายความเครียด ถึงจะเครียด แต่เรารู้แล้วว่าการผ่อนคลายความเครียดนั้นไม่ยากเลย
เป็นประจำเพื่อสังเกตว่าวิธีไหนที่ได้ผลสำหรับตัวเอง จะได้นำมาใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
-พักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนให้ได้ 7 – 9 ชั่วโมง การนอนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้า และส่งเสริมสภาพร่างกายและจิตใจเพื่อพร้อมรับกับวันต่อไปได้
-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
-ให้ความสำคัญต่อการดำรงสัมพันธภาพกับเพื่อนและครอบครัว เนื่องจากการเชื่อมโยงกันของคนในสังคมมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ ทั้งยังเป็นผลดีต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับภาวะซึมเศร้า การรับรู้ว่าเรามีเพื่อนและมีครอบครัวของเราคอยให้กำลังใจและสนับสนุนอยู่เสมอ ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงและลดโอกาสที่จะแยกตัวออกจากสังคม
-ฝึกดำรงสติ (Mindfulness) เมื่อเผชิญกับภาวะซึมเศร้าแล้วมักจะทำให้ความสามารถในการดำรงสมาธิและการจดจ่อลดลงไปอย่างมาก บางครั้งอาจเป็นเพราะว่าถูกรบกวนจากความคิดมากมาย อีกทั้งความกังวลเกี่ยวกับการเรียน การเข้าสังคม จึงยากมากที่จะจดจ่อกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้า การฝึกดำรงสตินี้หากสามารถฝึกได้อย่างต่อเนื่องแล้วจะเป็นประโยชน์มาก เพราะอย่างน้อยจะช่วยให้รับรู้ความคิดและอารมณ์ของตนเองได้เร็ว ส่งผลให้ควบคุมจัดการความคิดที่ไหลล่องลอยไร้ประโยชน์ได้รวดเร็วขึ้น
-ลดการใช้สุรา บุหรี่ และสิ่งเสพติด เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นจากภาวะทางอารมณ์ (Self-medication) เพราะแม้ฤทธิ์ของสิ่งเหล่านี้จะบรรเทาความทุกข์ได้แต่ก็เป็นการบรรเทาเพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่อาจส่งผลเสียต่ออาการของโรคในระยะยาวได้ ฉะนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้และควรหลีกเลี่ยงหากทำได้
-เข้าปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพูดคุยบอกเล่าปัญหา ความคิด ความรู้สึก หากเป็นปัญหาจะได้รับการรักษาให้เร็ว