งานบริหารทรัพยากรมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีภารกิจหลักในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ดังนี้
1. การสรรหา
เป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้ตัวบุคคลเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้านต่าง ๆ ในองค์กร ตามความรู้ความสามารถและคุณวุฒิ โดยเริ่มตั้งแต่การเสนอความต้องการอัตรา การกำหนดคุณสมบัติ คุณวุฒิ เหตุผลความจำเป็น งบประมาณ วงเงินที่ใช้ในการจ้าง การได้รับกรอบอัตรา การยืนยันหรือเปลี่ยนแปลงอัตราต่าง ๆ กระบวนการสรรหา การกำหนดรายละเอียดความต้องการจริง การประกาศรับสมัคร ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก รายงานผล ประกาศผล เสนอขออนุมัติบรรจุแต่งตั้ง การเรียกตัวผู้ผ่านการคัดเลือกมาปฏิบัติงาน จนถึงการส่งตัวให้กับหน่วยงาน โดยดำเนินการตามระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของทางราชการ
2. การธำรงรักษา
เป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้บุคลากรที่ดีมีความรู้ความสามารถ ตลอดจนความประพฤติดี อย่ในส่วนราชการหรือองค์กรจนครบเกษียณอายุ เริ่มตั้งแต่การทดลองการปฏิบัติงาน การประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อต่อสัญญาจ้าง พิจารณาความดีความชอบ เลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี การให้ผลตอบแทนต่าง ๆ การประเมินเพื่อเลื่อนระดับตำแหน่งให้สูงขึ้น การขอตำแหน่งทางวิชาการ โดยดำเนินการตามระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของทางราชการ
3. การพัฒนา
การพัฒนาจะมีการดำเนินการพัฒนาในระดับองค์กรและระดับบุคลากร การพัฒนาองค์กร เพื่อให้เกิดระบบการปฏิบัติงานที่ดี หรือเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โปร่งใส ตรวจสอบได้ตลอดจนบุคลากรมีความสุขในการทำงาน สำหรับการพัฒนาตัวบุคลากร เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถ ทัศนคติที่ดี มีความเห็นสอดคล้องกับระบบงาน ทันต่อความก้าวหน้าและวิทยาการที่ทันสมัย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4. การลา
จะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2535 และระเบียบการลาของพนักงานมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2549
5. ประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ
เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบและดำเนินการให้กับบุคลากร เพื่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน ประโยชน์เกื้อกูลที่บุคลากรได้รับ เช่น การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะต้องดำเนินการตามระเบียบด้วยความระมัดระวัง การดำเนินการในเรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ และการดำเนินการทางด้านบำเหน็จ บำนาญ
6. การลงโทษทางวินัยและการลาออกจากราชการ
การลงโทษ เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ข้าราชการหรือพนักงาน ลูกจ้าง ของส่วนราชการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นระเบียบวินัย เป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อราชการ ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อตนเอง ประชาชนและประเทศชาติ เป็นสิ่งที่บอกให้ผู้ที่อยู่ในองค์กรถือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับการลงโทษตามแต่กรณีและความผิดทีกระทำ
การออกจากราชการ อาจจะมาหลายสาเหตุได้แก่
– ไม่ผ่านการประเมินทดลองปฏิบัติราชการ
– การถูกลงโทษไล่ออก
– เจ้าตัวประสงค์ลาออก
– ถูกให้ออกจากราชการซึ่งไม่ใช่โทษ แต่เป็นกระบวนการที่ส่วนราชการต้องให้ออกจากราชการ เช่นเจ็บป่วยหรือทุพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
– เลิกจ้างหรือไม่ต่อสัญญาจ้าง
– เกษียณอายุราชการ